วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เปิดปมร้อนโครงการรับจำนำข้าว


เป็นเรื่องที่น่าติดตามไม่น้อย สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ที่กำลังกลายเป็นปมร้อนและถูกจับตาจากสังคมอย่างกว้างขวางว่า จะสร้างความเสียหายให้ชาติมากมายแค่ไหน หรือสมควรเดินหน้าโครงการต่อหรือไม่ หลังจากมีทั้งกลุ่มนักวิชาการ พ่อค้านักธุรกิจ ตลอดจนภาคการเมือง ออกมาให้ข้อมูล ทั้งสนับสนุนและคัดค้านกันจำนวนมาก

เนื่องจากขณะนี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของโครงการจำนำข้าว เพราะนัยทางการเมืองหมายถึง การเข้าใกล้ช่วงเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ทำให้ฝ่ายค้าน และนักวิชาการบางกลุ่มที่มีความเห็นขัดแย้งกับรัฐบาล ออกมาให้ข้อมูลโหมโรงปลุกกระแสความล้มเหลว และการทุจริตของโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล ขณะที่นัยทางการค้าในช่วงระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย. นี้ นับเป็นเวลาเหมาะสม ที่รัฐบาลจะเปิดระบายสต๊อกข้าวสารครั้งใหญ่เป็นครั้งแรก เพื่อรอรับการจำนำข้าวนาปีรอบใหม่ ส่งผลให้กลุ่มผู้ส่งออก ออกมาให้ข่าวเพื่อหวังกดราคาข้าวลง เพื่อให้สามารถซื้อข้าวจากรัฐได้ในราคาต่ำ

ติดตามข่าวต่างได้ที่ ข่าวด่วน
ทั้งนี้หากสรุปข้อมูลของฟากคัดค้าน มี 3-4 ประเด็นใหญ่ที่แสดงความเป็นห่วง และพยายามชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของโครงการรับจำนำ เริ่มจากผลประโยชน์ที่แท้จริงชาวนา โดยมองว่าโครงการจำนำไม่ได้ยกระดับชีวิตชาวนาแท้จริง แม้จะรับประกันข้าวทุกเมล็ด เนื่องจากเกิดการทุจริตตั้งแต่การขึ้นทะเบียน ที่ชาวนาถูกสวมสิทธิโดยนายทุน รวมถึงยังถูกเอาเปรียบด้วยการหักความชื้นสูง ทำให้แม้รัฐบาลตั้งราคาจำนำไว้สูง ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท ข้าวหอมมะลิตันละ 20,000 บาท แต่ชาวนาก็ไม่ได้รับเงินเต็มที่ เพราะถูกหักความชื้นไปหมด ที่สำคัญยังมีการหยิบยกจำนวนชาวนาที่เข้าร่วมโครงการจำนำมีแค่ไม่ถึง 2 ล้านราย ซึ่งน้อยกว่าชาวนาที่เข้าโครงการประกันรายได้ที่มากเกินกว่า 4 ล้านราย

ประเด็นต่อมาในเรื่องของการตลาด ที่ผ่านมาประเทศไทยถือเป็นแชมป์ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก มียอดส่งออกเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 8-10 ล้านตันมาตลอด แต่ผลจากการที่รัฐตั้งราคาข้าวไว้สูง ทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด และผู้ซื้อจากต่างชาติไม่ยอมรับ ส่งผลให้ข้าวไทยขายไม่ออก จนทำให้ปริมาณส่งออกข้าวไทยในบางเดือนลดลงต่ำกว่าคู่แข่งอย่างอินเดีย และเวียดนาม

นอกจากนี้ยังเสี่ยงเสียตำแหน่งแชมป์โลกข้าว สอดคล้องกับรายงานข้อมูลจากเว็บไซต์ของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยระบุว่า ยอดส่งออกข้าวไทยเฉพาะภาคเอกชน 1 ม.ค.-27 ก.ค. 55 ไทยส่งออกข้าวได้ 3.89 ล้านตัน ลดลง 46.19% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนยอดเฉพาะเดือน ก.ค. 55 ส่งออกได้ 4.21 แสนตัน ลดลง 52.82% ทีเดียว

อีกเรื่องที่ถูกชี้ให้เป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ คือ การใช้งบประมาณมหาศาลกว่า 2.6 แสนล้านบาทเพื่อแทรกแซงราคาข้าวช่วยเหลือเกษตรกร และยังประเมินเมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จรัฐบาลจะเสียหาย หรือขาดทุนจากการจำนำมากถึง 1 แสนล้านบาท สูงกว่าประกันรายได้ของรัฐบาลชุดที่แล้วที่เสียหายเพียง 5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกมาประเมินว่า โครงการจำนำข้าวนาปีจะมีผลขาดทุนถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งคำนวณจากทั้งตัวเลขการระบายข้าว สต๊อกข้าว ราคาข้าวในตลาด รวมถึงต้นทุนการรับจำนำจากหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบการพิจารณาด้วย

และประเด็นสุดท้ายที่เป็นจุดอ่อนที่สุด คือ โครงการรับจำนำยังเอื้ออำนวยให้ทุจริตทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มลงทะเบียน การสวมสิทธิข้าว ตลอดจนการระบายข้าว ซึ่งที่ผ่านมาก็มีออกข่าวต่อเนื่องถึงการจับกุมขบวนการทุจริตจากโครงการรับจำนำข้าว เริ่มตั้งแต่การลงทะเบียนเกษตรกร การออกใบประทวนปลอม ร่วมกับเกษตรกรบางรายโกงน้ำหนัก การหลอกลวงเกษตรกรเรื่องความชื้น เพื่อกดราคารับจำนำข้าว ขณะเดียวกันในแง่ของโรงสี หรือโกดังเก็บข้าว ก็เวียนเทียนนำข้าวประเทศเพื่อนบ้านคุณภาพต่ำกว่าเข้าใส่โกดังแทน และนำข้าวคุณภาพดีไปแอบขาย ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการระบายข้าวจากรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมามักเกิดการฮั้วกับบริษัทข้าวเอกชนรายใหญ่ ขายข้าวในราคาต่ำจนส่งผลให้รัฐบาลขาดทุนจากการขายข้าวจำนวนมาก

มาดูความเห็นของฟากที่เห็นด้วย ที่สนับสนุนและโต้แย้งประเด็นได้น่าฟัง เริ่มจากประโยชน์ของชาวนา ชี้ว่าโครงการนี้ให้ประโยชน์จากชาวนาแท้จริง เพราะรับจำนำข้าวทุกเมล็ด และแม้จะเกิดการทุจริตสวมสิทธิแต่เป็นส่วนน้อยเพราะหากมีมากจริง ข้าวเข้าโครงการจำนำคงทะลุหลัก 20-30 ล้านตันแล้ว แต่ปัจจุบันเพิ่งมีแค่ 17 ล้านตันเท่านั้น ขณะที่ความพอใจวัดจากปริมาณม็อบชาวนาปีนี้ไม่มีให้เห็นเลย ต่างจากสมัยการประกันรายได้ ที่เกิดม็อบเพราะปัญหาราคาตกต่ำ จนสมัยนั้นรัฐบาลประชาธิปัตย์ต้องแก้ปัญหายอมตั้งโต๊ะรับข้าวเปลือกถึง 2-3 ล้านตัน นอกจากนี้ผลสำรวจความพอใจต่อโครงการรับจำนำจากชาวนายังพบว่า 80% ต้องการโครงการจำนำต่อ

ส่วนประเด็นที่ชาวนาเข้าร่วมโครงการน้อย ส่วนหนึ่งมาจากพื้นที่นาบางส่วนถูกน้ำท่วม และที่น่าแปลกคือข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุครัวเรือนชาวนามีเพียง 3 ล้านกว่าครัวเรือน แต่ทำไมโครงการประกันถึงมีชาวนา  4 ล้านกว่าครัวเรือน ซึ่งไม่รู้ว่าส่วนเกินงอกมาจากไหน  หรือเป็นชาวนาที่แท้จริงหรือไม่

ขณะที่ข้อโต้แย้งในประเด็นด้านการตลาดถือเป็นจุดอ่อนที่มีให้เห็นอยู่ เพราะการจำนำราคานำตลาดแบบนี้ ย่อมทำให้ปริมาณส่งออกข้าวไทยลดลง แต่ในแง่ของมูลค่าข้าวไทยจะสูงขึ้น เพราะท้ายที่สุดเมื่อทำโครงการนี้ระยะยาว ประโยชน์ที่แท้จริงจะตกอยู่กับชาวนาที่ขายข้าวได้ราคาดี และประเทศมีรายได้จากการขายข้าวสูง โดยวัดได้จากราคาข้าวเปลือก เปรียบเทียบสมัยจำนำสูงขึ้นจากสมัยประกันรายได้ 10-15% ขณะที่ราคาส่งออกข้าวไทยปัจจุบัน สูงกว่าข้าวประเทศเพื่อนบ้านชัดเจนมากกว่าตันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ โดยข้าวขาว 5% ไทยอยู่ที่ 564 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เวียดนาม 410 ดอลลาร์สหรัฐ อินเดีย 420 ดอลลาร์สหรัฐ ปากีสถาน 460 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากแต่ช่วงก่อนที่มีส่วนต่างเพียง 50 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

สำหรับประเด็นเสียแชมป์ส่งออกข้าว รัฐบาลยืนยันว่าไม่มองเป้าหมายเชิงปริมาณ เพราะคาดว่ามูลค่ารวมส่งออกไทยจะสูงสุดอยู่ดี และปีนี้ยังเชื่อว่าปริมาณข้าวไทยยังส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 8-9 ล้านตัน แม้จะต่ำกว่าปีก่อนที่ 10.7 ล้านบาท แต่ก็มากกว่าอินเดีย และเวียดนาม เพราะมีคำสั่งซื้อจีทูจี หรือระหว่างรัฐต่อรัฐ  4-5 ล้านตัน

ต่อมาเป็นเรื่องการใช้งบประมาณ หากมองตรงไปตรงมา โครงการรับจำนำใช้เงินหมุนเวียนสูงกว่า และขาดทุนแน่นอน แต่จะถึงแสนล้านหรือไม่ยังตอบไม่ได้ เพราะตัวเลขนี้เป็นเพียงการคาดเดา โดยโครงการรับจำนำยังไม่ได้ปิดบัญชี มีแต่ตัวเงินที่รัฐบาลจ่ายออกไป และได้เป็นเมล็ดข้าวที่ได้รับจำนำเข้ามา ข้าวส่วนใหญ่ยังไม่ได้ระบายหรือขายออก ดังนั้นตัวชี้วัดที่แท้จริงว่าจะขาดทุนหรือไม่ อยู่ที่การขายข้าวของรัฐ หากขายได้ราคาดี การสูญเสียงบประมาณจะน้อย แต่ถ้าขายได้ราคาต่ำกว่า การขาดทุนเป็นแสนล้านบาทก็อาจเป็นไปได้ ดังนั้นช่วงนี้จึงถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่รัฐบาลและเอกชนกำลังประลองเชิงการเจรจาขายข้าวกัน ท่ามกลางกระแสข่าวทุบราคาทั่วประเทศ

มาเรื่องสุดท้ายที่ปัญหาการทุจริต ที่รัฐบาลไม่สามารถปฏิเสธได้เลย เพราะ ขนาด รองนายกฯ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ยังยอมรับว่าโครงการจำนำมีการทุจริตจริง แต่มีน้อยในระบบปฏิบัติการเท่านั้น แต่ยังไม่มีกระบวนการทุจริตใหญ่จากคนในระดับรัฐบาล แต่จะว่าไปแล้วเรื่องทุจริตกับโครงการรับจำนำมักเป็นของคู่กัน จึงเป็นเรื่องดี ที่รัฐบาลตั้งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ คอยตรวจสอบการทุจริต เพราะขนาดโครงการประกันรายได้ที่ระบุว่าทุจริตได้ยาก ยังพบปัญหาข้าวงอกได้

การตื่นตัวของสังคมไทยต่อการแก้ปัญหาข้าวครั้งนี้เป็นเรื่องดี รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การสร้างประโยชน์แก่ชาวนาและประเทศสูงสุด เชื่อว่าตามหลักการโครงการจำนำข้าวเป็นเรื่องดีที่ช่วยยกระดับราคาข้าว และให้ชาวนามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการจำนำข้าวต่อไป หรือยกเลิกก็ขึ้นอยู่ในภาคปฏิบัติว่าจะตอบโจทย์ เคลียร์ข้อกล่าวหาได้แค่ไหน.
โครงการประกันรายได้
ข้อดี
-จำนวนเกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้มีทั้งประเทศ
-ราคาข้าวจะเป็นไปตามกลไกตลาดไม่มีการบิดเบือน
-ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นมีน้อย เฉพาะขั้นตอนลงทะเบียนเท่านั้น
-แม้เกิดภัยพิบัติจากน้ำท่วม, ศัตรูพืชระบาด ชาวนาก็จะยังได้ส่วนต่างแม้ไม่มีผลผลิต
ข้อเสีย
-รัฐต้องจ่ายเงินโดยตรง แต่ไม่ได้ข้าวกลับมาเลย
-มีการแจ้งการทำนาที่เป็นเท็จ จนทำให้งบประมาณรั่วไหล
-ทำให้ราคาข้าวตกต่ำ
-มีการกำหนดวงเงินชดเชยแค่ 30 ตัน ทำให้ชาวนาไม่ได้ประโยชน์ทั้งหมด
-คิดให้ผลผลิตข้าวที่ 500 กก. ต่อไร่ ถ้าใครทำได้มากกว่านั้นก็ไม่ได้
-เกิดปัญหาให้พ่อค้ากดราคาชาวนาได้
โครงการจำนำ
ข้อดี
-ชาวนาได้รับเงินสูงกว่า และเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่า
-ชาวนาสามารถขายข้าวได้ทั้งหมดไม่ถูกจำกัดจำนวน
-ชาวนาจะได้รับเป็นเงินสดทันที
-ทำให้ราคาข้าวในท้องตลาดปรับขึ้น
-รัฐบาลสามารถควบคุมราคาซื้อ-ขาย ข้าวได้ ทั้งการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ
ข้อเสีย
-จากอดีตที่ผ่านมามีการคอร์รัปชั่นทั้งระบบ ทำให้รัฐต้องขาดทุนปีละหลายหมื่นล้าน
-รัฐอาจต้องสร้างโกดังไว้เก็บข้าวเอง จำนวนมาก
-เป็นการบิดเบือนกลไกตลาดทำให้ไทยสูญเสียการแข่งขัน
-รัฐต้องเสียเงินจำนวนมากในการดูแลสต๊อกข้าว
-อาจมีข้าวจากต่างประเทศเข้ามาสวมสิทธิ
รัฐบาลย้ำมาถูกทาง

บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวต่อไป และมั่นใจว่าเดินถูกทางแล้ว เพราะช่วยยกระดับราคาข้าว และสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างแท้จริง ที่สำคัญยังช่วยยกระดับราคาข้าวในตลาดให้สูงขึ้นได้โดยข้าวเปลือกราคาเพิ่มขึ้นตันละ 1,000-1,500 บาท ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าตันละ 50-100 ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนข่าวลือที่รัฐบาลระบายข้าว ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะที่ผ่านมากระทรวงฯ ใช้วิธีเปิดประมูล ให้สาธารณชนทั่วไปร่วมประมูล และแต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมประมูลไม่ต่ำกว่า 5 ราย ซึ่งประมูลมาแล้ว 3 ครั้ง ที่เหลือยังไม่มีการจำหน่าย อีกทั้งยังกำหนดราคากลาง หากใครเสนอซื้อมาต่ำหวังกดราคา จะไม่ขายให้ และยืนยันว่า การจำนำข้าวจะไม่ขาดทุนเป็นแสนล้านบาทอย่างที่วิจารณ์ เพราะตอนนี้เริ่มทยอยส่งมอบข้าว จีทูจี ให้ประเทศแล้ว อาทิ จีน อินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าจะส่งออกจีทูจีได้ 4-5 ล้านตัน พร้อมกับส่งมอบเงินคืนรัฐ เพื่อใช้หมุนเวียนรับจำนำข้าวเปลือก ขณะเดียวกันยังทำให้ยอดส่งออกข้าวปีนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 8.5 ล้านตัน รักษาแชมป์โลกส่งออกข้าวได้ต่อไป

ขณะที่การเตรียมความพร้อมและป้องกันการทุจริตในโครงการรับจำนำ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน และองค์การคลังสินค้า (อคส.) ไปออกมาตรการให้รัดกุมมากขึ้น
แนะล้มจำนำแก้ทุจริต
กรณ์ จาติกวนิช อดีต รมว.คลัง ให้ความเห็นว่า การดำเนินนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลในปัจจุบันเป็นโครงการที่สร้างค่าเช่าทางเศรษฐกิจทุกขั้นตอน และเกษตรกรไม่ได้รับผลประโยชน์ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ ขณะเดียวกันยังมีปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นทุกขั้นตอน ดังนั้นจึงขอให้ยกเลิกโครงการนี้ เนื่องจากจะช่วยประหยัดงบประมาณ และลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นต่องบประมาณในการดำเนินโครงการหลายแสนล้านบาท

“นโยบายการเกษตรของรัฐบาลไม่ได้ตอบโจทย์ตอนนี้ได้ทั้งหมด โดยโครงการรับจำนำข้าวถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่สร้างความเสียหายทุกขั้นตอน และที่ผ่านมารองนายกฯก็พูดไว้ว่าโครงการนี้จะไม่ขาดทุน ซึ่งพวกเราก็เถียงมาตลอด และข้อเท็จจริงตอนนี้คือมันไม่เกิดขึ้น และนอกจากชาวนาไม่ได้ประโยชน์  ทางด้านโรงสีที่ได้ประโยชน์ก็ยังกังวลว่า 2-3 ปีข้างหน้าคุณภาพข้าวของไทยจะตกต่ำมาก  เพราะนโยบายนี้ไม่ได้มีแรงจูงใจเกษตรกรให้ปลูกข้าวที่มีคุณภาพ ขอให้มีเม็ดข้าวก็เข้าจำนำได้แล้ว จึงเป็นปัญหา ดังนั้นจึงขอให้ยกเลิก”

ตอนนี้ถือว่าหนีความจริงไม่ได้ว่าเพราะหากพิจารณาจำนวนเกษตรกรที่ได้ประโยชน์จากโครงการรับจำนำมีเพียง 2 ล้านครัวเรือนเท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์ ขณะที่การประกันรายได้เกษตรกรมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ถึง 4 ล้านคน 
โพลชาวนาหนุนจำนำต่อ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ธุรกิจและเศรษฐกิจไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลการสำรวจเกษตรกรทั่วประเทศ 1,200 คน ต่อนโยบายการรับจำนำข้าว พบว่า ชาวนากว่า 80% พอใจในโครงการรับจำนำข้าวปานกลาง เนื่องจากทำให้มีเงินเพียงพอในการใช้จ่าย และมีเงินออมมากขึ้น และลดการเป็นหนี้ได้  ขณะเดียวกันชาวนา 72.3% ยังพอใจหากอนาคตรัฐบาลจะมีการรับจำนำข้าวราคาเดิม 15,000 บาท

อย่างไรก็ตามชาวนาแสดงความเป็นห่วงว่าราคารับจำนำข้าวในระดับสูงส่งผลให้ข้าวไทยแข่งขันกับคู่แข่งไม่ได้ จึงต้องการให้รัฐบาลเร่งสร้างคุณภาพข้าวไทยให้แตกต่างจากคู่แข่ง เพื่อสามารถกระตุ้นให้เกิดการส่งออกมากขึ้น พร้อมกับให้รัฐบาลดูแลราคาสารเคมี ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงไปในตัวด้วย เพื่อช่วยลดต้นทุนแก่เกษตรกร

ส่วนการให้คะแนนนโยบายรับจำนำข้าวที่มีต่อระบบเศรษฐกิจไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยให้ที่ 8 คะแนนจาก 10 คะแนน เพราะนโยบายนี้ช่วยพยุงเศรษฐกิจและดูแลอำนาจซื้อของประชาชนโดยเฉพาะในท้องถิ่นให้สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการยกระดับสัดส่วนการบริโภคภายในประเทศ ให้ได้ 40% ของจีดีพี ซึ่งมีส่วนช่วยให้การจับจ่ายซื้อสินค้ามากขึ้น
ทีมเศรษฐกิจ

วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เลสเบี้ยนไต้หวันเข้าวิวาห์แบบพุทธ


สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากมณฑลเถาหยวน สาธารณรัฐจีน ( ไต้หวัน ) ว่า หญิงสาวชาวไต้หวัน 2 คน เข้าพิธีสมรสเพศเดียวกัน จัดขึ้นตามแบบศาสนาพุทธในวันนี้ กระตุ้นให้บรรดานักเคลื่อนไหวเกิดความหวังว่า ไต้หวันอาจกลายเป็นดินแดนแรกในทวีปเอเชีย ที่อนุญาตให้คู่รักร่วมเพศสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ทั้ง น.ส. ฟิช หวง และ น.ส. หยู หยา-ติง ซึ่งอายุ 30 ปีเท่ากัน ต่างอยู่ในชุดเจ้าสาวสีขาว ขณะทำพิธีสวดมนต์ต่อหน้าพระพุทธรูป และรับพรจากคณะสงฆ์ 300 รูป ตามด้วยการแลกรับประทานขนมปังในพิธี และสวมแหวนแต่งงานให้กันและกัน ณ อารามแห่งหนึ่งในมณฑลเถาหยวน  ทางตอนเหนือของเกาะไต้หวัน
เป็นที่น่าสังเกตว่า พิธีสมรสที่เกิดขึ้นนั้น ไร้วี่แววของสมาชิกครอบครัวทั้ง สองฝ่าย แม้หวงจะกล่าวก่อนเริ่มพิธีเล็กน้อยว่า ครอบครัวของเธอและติง ไม่เคยกีดกันในเรื่องนี้ และทุกคนรู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถเดินทางมาเข้าร่วมพิธีได้ เนื่องจากไม่ชินที่มีสื่อมวลชนมารอทำข่าวเป็นจำนวนมาก
ก่อนหน้านี้ คุ่รักเลสเบี้ยน 80 คู่ เข้าพิธีสมรสหมู่ของกลุ่มคนรักร่วมเพศครั้งใหญ่ที่สุดในไต้หวัน เมื่อปีที่แล้ว นอกจากนี้ รัฐสภาไต้หวันเคยอนุมัติร่างกฎหมายการสมรส และการรับอุปการะบุตรของกลุ่มคนรักร่วมเพศแล้ว เมื่อปี 2546 แต่ประธานาธิบดีหม่า อิง-จิ่ว กลับกล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ควรผ่านการลงประชามติจากชาวไต้หวัน ก่อนได้รับการอนุมัติขั้นสุดท้าย ทำให้กลุ่มคนรักร่วมเพศออกมาเดินขบวนเร่งให้นายหม่าผลักดันให้มีการลงประชามติ ก่อนที่เขาจะหมดวาระในปี 2559
ที่มา  เดลินิวส์ 

10 ศพสังเวยพายุโซนร้อน


วันนี้ ( 11 ส.ค. ) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองซาลาปา ประเทศเม็กซิโก ว่าพายุโซนร้อน “เออร์เนสโต้”  ที่อ่อนกำลังลงจากการเป็นพายุเฮอริเคนระดับ 1 จาก 5 ตามมาตรวัดพายุซัฟเฟอร์-ซิมป์สัน พัดเข้าถล่มเม็กซิโก ก่อให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน และดินถล่มในหลายพื้นที่ คร่าชีวิตประชาชนแล้วอย่างน้อย 10 ศพ
 
โดยที่เมืองเซ็นต์ลา ในรัฐตาบัสโก ทางตะวันตกของประเทศ เด็กหนุ่มชาวประมงวัย 17 ปี ถูกคลื่นซัดจมลงทะเล ส่วนเหยื่อรายที่ 2 เจ้าหน้าที่สามารถกู้ศพขึ้นมาได้จากแม่น้ำซามาเรีย ขณะที่ในรัฐเวรากรูซ เกิดเหตุโคลนถล่ม ยังผลให้มีผู้เสียชีวิต 5 ศพ และสูญหายอีก 1 ศพ ศพที่ 8 เป็นหญิง เสียชีวิตภายในรถยนต์ส่วนตัวที่ถูกกระแสน้ำซัดไปจากถนน นอกจากนี้ ในบริเวณใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ยังพบชายวัย 62 ปี ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยจากฟ้าแลบ
 

ส่วนในรัฐโออาซากา หญิงรายหนึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุอันเกิดจากการต้องขับรถฝ่าสายฝนที่ตกกระหน่ำ และดินถล่ม เช่นเดียวกับเด็กน้อยคนหนึ่ง ที่ต้องเสียชีวิตทั้งที่อยู่ภายในบ้านพัก เนื่องจากกระแสน้ำเชี่ยวกรากกัดเซาะบ้านจนพังทลาย
 
สำนักงานเตือนภัยพายุหมุนแห่งชาติ ในรัฐฟลอริดา ของสหรัฐ รายงานว่า สามารถวัดระดับปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ประสบภัยของเม็กซิโกได้สูงสุดถึง 38 เซนติเมตร ขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการเม็กซิโกเปิดเผยว่า แม้จะยังไม่ได้รับรายงานความเสียหายรุนแรง แต่ประชาชนในรัฐเวรากรูซ ตาบัสโก ปวยบลา โออาซากา และเกร์เรโร แจต้องรับมือกับฝนที่จะตกหนักต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงข้างหน้า
 
ด้านยอดผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยครั้งรุนแรงของฟิลิปปินส์ พุ่งขึ้นเป็น 66 ศพแล้ว โดยพื้นที่กว่า 80% ของกรุงมะนิลาต้องจมอยู่ใต้บาดาล ส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 2.68 ล้านคน โดยกว่า 441,000 คน ต้องอพยพเข้าไปยังศูนย์พักพิงเป็นการชั่วคราวแล้ว
ที่มา เดลินิวส์ 

หุ้นไทยภาคบ่ายปิดบวก


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวันนี้ (10 ส.ค.) ดัชนีแกว่งตัวในแดบลบเป็นส่วนใหญ่ ตามแรงเทขายทำกำไรก่อนวันหยุดยาว แต่สุดท้ายกลับมาปิดตลาดได้ในแดนบวกเล็กน้อย โดยระหว่างวันดัชนีทะยานขึ้นสูงสุดที่ 1,219.37 จุด ลดลงต่ำสุดที่ 1,209.75 จุด จนมาปิดตลาดที่ 1,219.37 จุด เพิ่มขึ้น 1.67 จุด หรือ 0.14 % ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 25,618.32 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ ปิดที่ 314.20 จุด ลดลง 2.62 จุด หรือ 0.83 % มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 1,186.79 ล้านบาท
      
สำหรับหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรก
1. ธ.กรุงไทย ปิดที่ 16.60 บาท ลดลง 0.40 บาท
2. ซีพีออลล์ ปิดที่ 33.00 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง
3. จัสมิน ปิดที่ 3.46 บาท เพิ่มขึ้น 0.12 บาท
4. ปตท.โกลบอล ปิดที่ 64.00 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาท
5. ปตท. ปิดที่ 342.00 บาท เพิ่มขึ้น 6.00 บาท
นายชัย จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล. โนมูระ พัฒนสิน มองว่า ภาพรวมของดัชนีหุ้นไทยผันผวนในกรอบแคบ เพราะยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆเข้ามากระตุ้นการลงทุน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการขายทำกำไรระยะสั้น ก่อนจะถึงวันหยุดยาวในช่วงวันแม่แห่งชาติ

ส่วนแนวโน้มในสัปดาห์หน้า มองว่า ยังต้องรอผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่จะทยอยประกาศออกมา  โดยประเมินแนวรับไว้ที่ 1,200 จุด และแนวต้านที่ 1,220 จุด  ด้านกลยุทธ์แนะนำให้เลือกลงทุนในหุ้นรายตัว ในกลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มยานยนต์ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มสื่อสาร ที่คาดว่าจะมีผลประกอบการออกมาดี ส่วนในกลุ่มธนาคาร ให้รอซื้อเมื่อราคาอ่อนตัวลง.
ที่มา เดลินิวส์ 

เล็งดึง 2 ค่ายรถยนต์จีน


วันนี้ (9 ส.ค.) ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมอุตสาหกรรม อยู่ระหว่างการชักจูงนักธุรกิจของจีนในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ 2 บริษัทใหญ่ประกอบด้วยบริษัท เซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ อินดัสตรี คอเปอเรชั่น  และบริษัท เกรสวอลล์ มอเตอร์ เข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์นั่งและรถกระบะปิ๊กอัพในไทยภายในปีหน้า คาดว่ามีมูลค่าลงทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการขยายตัวความต้องการรถยนต์ของผู้บริโภคคนไทย และการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันค่ายรถยนต์ทั่วโลกมองว่าไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถในภูมิภาคอาเซียน
 
ทั้งนี้ ในปี 54 นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยเป็นอันดับ 4 โดยมีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 911 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 166% และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 55 นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว 18 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนเกือบ 200  ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าการลงทุนจากจีนมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้มากกว่านี้ หรือขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่นได้
 
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กล่าวว่า ในปีนี้บีโอไอมีนโยบายให้สิทธิประโยชน์แพคเกจพิเศษใน 3 กลุ่มกิจการคือ กิจการที่เกี่ยวกับการประหยัดพลังงานและพลังงานทดแทน กิจการผลิตวัสดุและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกิจการที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในสิ้นปีนี้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ไทยอยากจะเชิญชวนให้นักลงทุนจีนเข้าไปลงทุนในไทย เพราะไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 15 ของโลก และคาดว่าภายในปี 57 กำลังการผลิตรถยนต์ของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 ล้านคัน ซึ่งจะทำให้ไทยติดลำดับท๊อปเท็นของโลก รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นฐานส่งออกได้อีกด้วย..
ที่มาเดลินิวส์