วันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เปิดปมร้อนโครงการรับจำนำข้าว


เป็นเรื่องที่น่าติดตามไม่น้อย สำหรับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ที่กำลังกลายเป็นปมร้อนและถูกจับตาจากสังคมอย่างกว้างขวางว่า จะสร้างความเสียหายให้ชาติมากมายแค่ไหน หรือสมควรเดินหน้าโครงการต่อหรือไม่ หลังจากมีทั้งกลุ่มนักวิชาการ พ่อค้านักธุรกิจ ตลอดจนภาคการเมือง ออกมาให้ข้อมูล ทั้งสนับสนุนและคัดค้านกันจำนวนมาก

เนื่องจากขณะนี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของโครงการจำนำข้าว เพราะนัยทางการเมืองหมายถึง การเข้าใกล้ช่วงเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ทำให้ฝ่ายค้าน และนักวิชาการบางกลุ่มที่มีความเห็นขัดแย้งกับรัฐบาล ออกมาให้ข้อมูลโหมโรงปลุกกระแสความล้มเหลว และการทุจริตของโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล ขณะที่นัยทางการค้าในช่วงระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย. นี้ นับเป็นเวลาเหมาะสม ที่รัฐบาลจะเปิดระบายสต๊อกข้าวสารครั้งใหญ่เป็นครั้งแรก เพื่อรอรับการจำนำข้าวนาปีรอบใหม่ ส่งผลให้กลุ่มผู้ส่งออก ออกมาให้ข่าวเพื่อหวังกดราคาข้าวลง เพื่อให้สามารถซื้อข้าวจากรัฐได้ในราคาต่ำ

ติดตามข่าวต่างได้ที่ ข่าวด่วน
ทั้งนี้หากสรุปข้อมูลของฟากคัดค้าน มี 3-4 ประเด็นใหญ่ที่แสดงความเป็นห่วง และพยายามชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของโครงการรับจำนำ เริ่มจากผลประโยชน์ที่แท้จริงชาวนา โดยมองว่าโครงการจำนำไม่ได้ยกระดับชีวิตชาวนาแท้จริง แม้จะรับประกันข้าวทุกเมล็ด เนื่องจากเกิดการทุจริตตั้งแต่การขึ้นทะเบียน ที่ชาวนาถูกสวมสิทธิโดยนายทุน รวมถึงยังถูกเอาเปรียบด้วยการหักความชื้นสูง ทำให้แม้รัฐบาลตั้งราคาจำนำไว้สูง ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท ข้าวหอมมะลิตันละ 20,000 บาท แต่ชาวนาก็ไม่ได้รับเงินเต็มที่ เพราะถูกหักความชื้นไปหมด ที่สำคัญยังมีการหยิบยกจำนวนชาวนาที่เข้าร่วมโครงการจำนำมีแค่ไม่ถึง 2 ล้านราย ซึ่งน้อยกว่าชาวนาที่เข้าโครงการประกันรายได้ที่มากเกินกว่า 4 ล้านราย

ประเด็นต่อมาในเรื่องของการตลาด ที่ผ่านมาประเทศไทยถือเป็นแชมป์ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก มียอดส่งออกเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 8-10 ล้านตันมาตลอด แต่ผลจากการที่รัฐตั้งราคาข้าวไว้สูง ทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด และผู้ซื้อจากต่างชาติไม่ยอมรับ ส่งผลให้ข้าวไทยขายไม่ออก จนทำให้ปริมาณส่งออกข้าวไทยในบางเดือนลดลงต่ำกว่าคู่แข่งอย่างอินเดีย และเวียดนาม

นอกจากนี้ยังเสี่ยงเสียตำแหน่งแชมป์โลกข้าว สอดคล้องกับรายงานข้อมูลจากเว็บไซต์ของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยระบุว่า ยอดส่งออกข้าวไทยเฉพาะภาคเอกชน 1 ม.ค.-27 ก.ค. 55 ไทยส่งออกข้าวได้ 3.89 ล้านตัน ลดลง 46.19% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนยอดเฉพาะเดือน ก.ค. 55 ส่งออกได้ 4.21 แสนตัน ลดลง 52.82% ทีเดียว

อีกเรื่องที่ถูกชี้ให้เป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ คือ การใช้งบประมาณมหาศาลกว่า 2.6 แสนล้านบาทเพื่อแทรกแซงราคาข้าวช่วยเหลือเกษตรกร และยังประเมินเมื่อดำเนินโครงการแล้วเสร็จรัฐบาลจะเสียหาย หรือขาดทุนจากการจำนำมากถึง 1 แสนล้านบาท สูงกว่าประกันรายได้ของรัฐบาลชุดที่แล้วที่เสียหายเพียง 5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ออกมาประเมินว่า โครงการจำนำข้าวนาปีจะมีผลขาดทุนถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งคำนวณจากทั้งตัวเลขการระบายข้าว สต๊อกข้าว ราคาข้าวในตลาด รวมถึงต้นทุนการรับจำนำจากหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบการพิจารณาด้วย

และประเด็นสุดท้ายที่เป็นจุดอ่อนที่สุด คือ โครงการรับจำนำยังเอื้ออำนวยให้ทุจริตทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มลงทะเบียน การสวมสิทธิข้าว ตลอดจนการระบายข้าว ซึ่งที่ผ่านมาก็มีออกข่าวต่อเนื่องถึงการจับกุมขบวนการทุจริตจากโครงการรับจำนำข้าว เริ่มตั้งแต่การลงทะเบียนเกษตรกร การออกใบประทวนปลอม ร่วมกับเกษตรกรบางรายโกงน้ำหนัก การหลอกลวงเกษตรกรเรื่องความชื้น เพื่อกดราคารับจำนำข้าว ขณะเดียวกันในแง่ของโรงสี หรือโกดังเก็บข้าว ก็เวียนเทียนนำข้าวประเทศเพื่อนบ้านคุณภาพต่ำกว่าเข้าใส่โกดังแทน และนำข้าวคุณภาพดีไปแอบขาย ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการระบายข้าวจากรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมามักเกิดการฮั้วกับบริษัทข้าวเอกชนรายใหญ่ ขายข้าวในราคาต่ำจนส่งผลให้รัฐบาลขาดทุนจากการขายข้าวจำนวนมาก

มาดูความเห็นของฟากที่เห็นด้วย ที่สนับสนุนและโต้แย้งประเด็นได้น่าฟัง เริ่มจากประโยชน์ของชาวนา ชี้ว่าโครงการนี้ให้ประโยชน์จากชาวนาแท้จริง เพราะรับจำนำข้าวทุกเมล็ด และแม้จะเกิดการทุจริตสวมสิทธิแต่เป็นส่วนน้อยเพราะหากมีมากจริง ข้าวเข้าโครงการจำนำคงทะลุหลัก 20-30 ล้านตันแล้ว แต่ปัจจุบันเพิ่งมีแค่ 17 ล้านตันเท่านั้น ขณะที่ความพอใจวัดจากปริมาณม็อบชาวนาปีนี้ไม่มีให้เห็นเลย ต่างจากสมัยการประกันรายได้ ที่เกิดม็อบเพราะปัญหาราคาตกต่ำ จนสมัยนั้นรัฐบาลประชาธิปัตย์ต้องแก้ปัญหายอมตั้งโต๊ะรับข้าวเปลือกถึง 2-3 ล้านตัน นอกจากนี้ผลสำรวจความพอใจต่อโครงการรับจำนำจากชาวนายังพบว่า 80% ต้องการโครงการจำนำต่อ

ส่วนประเด็นที่ชาวนาเข้าร่วมโครงการน้อย ส่วนหนึ่งมาจากพื้นที่นาบางส่วนถูกน้ำท่วม และที่น่าแปลกคือข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระบุครัวเรือนชาวนามีเพียง 3 ล้านกว่าครัวเรือน แต่ทำไมโครงการประกันถึงมีชาวนา  4 ล้านกว่าครัวเรือน ซึ่งไม่รู้ว่าส่วนเกินงอกมาจากไหน  หรือเป็นชาวนาที่แท้จริงหรือไม่

ขณะที่ข้อโต้แย้งในประเด็นด้านการตลาดถือเป็นจุดอ่อนที่มีให้เห็นอยู่ เพราะการจำนำราคานำตลาดแบบนี้ ย่อมทำให้ปริมาณส่งออกข้าวไทยลดลง แต่ในแง่ของมูลค่าข้าวไทยจะสูงขึ้น เพราะท้ายที่สุดเมื่อทำโครงการนี้ระยะยาว ประโยชน์ที่แท้จริงจะตกอยู่กับชาวนาที่ขายข้าวได้ราคาดี และประเทศมีรายได้จากการขายข้าวสูง โดยวัดได้จากราคาข้าวเปลือก เปรียบเทียบสมัยจำนำสูงขึ้นจากสมัยประกันรายได้ 10-15% ขณะที่ราคาส่งออกข้าวไทยปัจจุบัน สูงกว่าข้าวประเทศเพื่อนบ้านชัดเจนมากกว่าตันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ โดยข้าวขาว 5% ไทยอยู่ที่ 564 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เวียดนาม 410 ดอลลาร์สหรัฐ อินเดีย 420 ดอลลาร์สหรัฐ ปากีสถาน 460 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากแต่ช่วงก่อนที่มีส่วนต่างเพียง 50 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น

สำหรับประเด็นเสียแชมป์ส่งออกข้าว รัฐบาลยืนยันว่าไม่มองเป้าหมายเชิงปริมาณ เพราะคาดว่ามูลค่ารวมส่งออกไทยจะสูงสุดอยู่ดี และปีนี้ยังเชื่อว่าปริมาณข้าวไทยยังส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 8-9 ล้านตัน แม้จะต่ำกว่าปีก่อนที่ 10.7 ล้านบาท แต่ก็มากกว่าอินเดีย และเวียดนาม เพราะมีคำสั่งซื้อจีทูจี หรือระหว่างรัฐต่อรัฐ  4-5 ล้านตัน

ต่อมาเป็นเรื่องการใช้งบประมาณ หากมองตรงไปตรงมา โครงการรับจำนำใช้เงินหมุนเวียนสูงกว่า และขาดทุนแน่นอน แต่จะถึงแสนล้านหรือไม่ยังตอบไม่ได้ เพราะตัวเลขนี้เป็นเพียงการคาดเดา โดยโครงการรับจำนำยังไม่ได้ปิดบัญชี มีแต่ตัวเงินที่รัฐบาลจ่ายออกไป และได้เป็นเมล็ดข้าวที่ได้รับจำนำเข้ามา ข้าวส่วนใหญ่ยังไม่ได้ระบายหรือขายออก ดังนั้นตัวชี้วัดที่แท้จริงว่าจะขาดทุนหรือไม่ อยู่ที่การขายข้าวของรัฐ หากขายได้ราคาดี การสูญเสียงบประมาณจะน้อย แต่ถ้าขายได้ราคาต่ำกว่า การขาดทุนเป็นแสนล้านบาทก็อาจเป็นไปได้ ดังนั้นช่วงนี้จึงถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่รัฐบาลและเอกชนกำลังประลองเชิงการเจรจาขายข้าวกัน ท่ามกลางกระแสข่าวทุบราคาทั่วประเทศ

มาเรื่องสุดท้ายที่ปัญหาการทุจริต ที่รัฐบาลไม่สามารถปฏิเสธได้เลย เพราะ ขนาด รองนายกฯ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ยังยอมรับว่าโครงการจำนำมีการทุจริตจริง แต่มีน้อยในระบบปฏิบัติการเท่านั้น แต่ยังไม่มีกระบวนการทุจริตใหญ่จากคนในระดับรัฐบาล แต่จะว่าไปแล้วเรื่องทุจริตกับโครงการรับจำนำมักเป็นของคู่กัน จึงเป็นเรื่องดี ที่รัฐบาลตั้งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ คอยตรวจสอบการทุจริต เพราะขนาดโครงการประกันรายได้ที่ระบุว่าทุจริตได้ยาก ยังพบปัญหาข้าวงอกได้

การตื่นตัวของสังคมไทยต่อการแก้ปัญหาข้าวครั้งนี้เป็นเรื่องดี รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การสร้างประโยชน์แก่ชาวนาและประเทศสูงสุด เชื่อว่าตามหลักการโครงการจำนำข้าวเป็นเรื่องดีที่ช่วยยกระดับราคาข้าว และให้ชาวนามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการจำนำข้าวต่อไป หรือยกเลิกก็ขึ้นอยู่ในภาคปฏิบัติว่าจะตอบโจทย์ เคลียร์ข้อกล่าวหาได้แค่ไหน.
โครงการประกันรายได้
ข้อดี
-จำนวนเกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้มีทั้งประเทศ
-ราคาข้าวจะเป็นไปตามกลไกตลาดไม่มีการบิดเบือน
-ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นมีน้อย เฉพาะขั้นตอนลงทะเบียนเท่านั้น
-แม้เกิดภัยพิบัติจากน้ำท่วม, ศัตรูพืชระบาด ชาวนาก็จะยังได้ส่วนต่างแม้ไม่มีผลผลิต
ข้อเสีย
-รัฐต้องจ่ายเงินโดยตรง แต่ไม่ได้ข้าวกลับมาเลย
-มีการแจ้งการทำนาที่เป็นเท็จ จนทำให้งบประมาณรั่วไหล
-ทำให้ราคาข้าวตกต่ำ
-มีการกำหนดวงเงินชดเชยแค่ 30 ตัน ทำให้ชาวนาไม่ได้ประโยชน์ทั้งหมด
-คิดให้ผลผลิตข้าวที่ 500 กก. ต่อไร่ ถ้าใครทำได้มากกว่านั้นก็ไม่ได้
-เกิดปัญหาให้พ่อค้ากดราคาชาวนาได้
โครงการจำนำ
ข้อดี
-ชาวนาได้รับเงินสูงกว่า และเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่า
-ชาวนาสามารถขายข้าวได้ทั้งหมดไม่ถูกจำกัดจำนวน
-ชาวนาจะได้รับเป็นเงินสดทันที
-ทำให้ราคาข้าวในท้องตลาดปรับขึ้น
-รัฐบาลสามารถควบคุมราคาซื้อ-ขาย ข้าวได้ ทั้งการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ
ข้อเสีย
-จากอดีตที่ผ่านมามีการคอร์รัปชั่นทั้งระบบ ทำให้รัฐต้องขาดทุนปีละหลายหมื่นล้าน
-รัฐอาจต้องสร้างโกดังไว้เก็บข้าวเอง จำนวนมาก
-เป็นการบิดเบือนกลไกตลาดทำให้ไทยสูญเสียการแข่งขัน
-รัฐต้องเสียเงินจำนวนมากในการดูแลสต๊อกข้าว
-อาจมีข้าวจากต่างประเทศเข้ามาสวมสิทธิ
รัฐบาลย้ำมาถูกทาง

บุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลจะเดินหน้าโครงการรับจำนำข้าวต่อไป และมั่นใจว่าเดินถูกทางแล้ว เพราะช่วยยกระดับราคาข้าว และสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างแท้จริง ที่สำคัญยังช่วยยกระดับราคาข้าวในตลาดให้สูงขึ้นได้โดยข้าวเปลือกราคาเพิ่มขึ้นตันละ 1,000-1,500 บาท ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าตันละ 50-100 ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนข่าวลือที่รัฐบาลระบายข้าว ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะที่ผ่านมากระทรวงฯ ใช้วิธีเปิดประมูล ให้สาธารณชนทั่วไปร่วมประมูล และแต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมประมูลไม่ต่ำกว่า 5 ราย ซึ่งประมูลมาแล้ว 3 ครั้ง ที่เหลือยังไม่มีการจำหน่าย อีกทั้งยังกำหนดราคากลาง หากใครเสนอซื้อมาต่ำหวังกดราคา จะไม่ขายให้ และยืนยันว่า การจำนำข้าวจะไม่ขาดทุนเป็นแสนล้านบาทอย่างที่วิจารณ์ เพราะตอนนี้เริ่มทยอยส่งมอบข้าว จีทูจี ให้ประเทศแล้ว อาทิ จีน อินโดนีเซีย ซึ่งคาดว่าจะส่งออกจีทูจีได้ 4-5 ล้านตัน พร้อมกับส่งมอบเงินคืนรัฐ เพื่อใช้หมุนเวียนรับจำนำข้าวเปลือก ขณะเดียวกันยังทำให้ยอดส่งออกข้าวปีนี้ได้ไม่ต่ำกว่า 8.5 ล้านตัน รักษาแชมป์โลกส่งออกข้าวได้ต่อไป

ขณะที่การเตรียมความพร้อมและป้องกันการทุจริตในโครงการรับจำนำ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน และองค์การคลังสินค้า (อคส.) ไปออกมาตรการให้รัดกุมมากขึ้น
แนะล้มจำนำแก้ทุจริต
กรณ์ จาติกวนิช อดีต รมว.คลัง ให้ความเห็นว่า การดำเนินนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลในปัจจุบันเป็นโครงการที่สร้างค่าเช่าทางเศรษฐกิจทุกขั้นตอน และเกษตรกรไม่ได้รับผลประโยชน์ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ ขณะเดียวกันยังมีปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นทุกขั้นตอน ดังนั้นจึงขอให้ยกเลิกโครงการนี้ เนื่องจากจะช่วยประหยัดงบประมาณ และลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นต่องบประมาณในการดำเนินโครงการหลายแสนล้านบาท

“นโยบายการเกษตรของรัฐบาลไม่ได้ตอบโจทย์ตอนนี้ได้ทั้งหมด โดยโครงการรับจำนำข้าวถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่สร้างความเสียหายทุกขั้นตอน และที่ผ่านมารองนายกฯก็พูดไว้ว่าโครงการนี้จะไม่ขาดทุน ซึ่งพวกเราก็เถียงมาตลอด และข้อเท็จจริงตอนนี้คือมันไม่เกิดขึ้น และนอกจากชาวนาไม่ได้ประโยชน์  ทางด้านโรงสีที่ได้ประโยชน์ก็ยังกังวลว่า 2-3 ปีข้างหน้าคุณภาพข้าวของไทยจะตกต่ำมาก  เพราะนโยบายนี้ไม่ได้มีแรงจูงใจเกษตรกรให้ปลูกข้าวที่มีคุณภาพ ขอให้มีเม็ดข้าวก็เข้าจำนำได้แล้ว จึงเป็นปัญหา ดังนั้นจึงขอให้ยกเลิก”

ตอนนี้ถือว่าหนีความจริงไม่ได้ว่าเพราะหากพิจารณาจำนวนเกษตรกรที่ได้ประโยชน์จากโครงการรับจำนำมีเพียง 2 ล้านครัวเรือนเท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์ ขณะที่การประกันรายได้เกษตรกรมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ถึง 4 ล้านคน 
โพลชาวนาหนุนจำนำต่อ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ธุรกิจและเศรษฐกิจไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลการสำรวจเกษตรกรทั่วประเทศ 1,200 คน ต่อนโยบายการรับจำนำข้าว พบว่า ชาวนากว่า 80% พอใจในโครงการรับจำนำข้าวปานกลาง เนื่องจากทำให้มีเงินเพียงพอในการใช้จ่าย และมีเงินออมมากขึ้น และลดการเป็นหนี้ได้  ขณะเดียวกันชาวนา 72.3% ยังพอใจหากอนาคตรัฐบาลจะมีการรับจำนำข้าวราคาเดิม 15,000 บาท

อย่างไรก็ตามชาวนาแสดงความเป็นห่วงว่าราคารับจำนำข้าวในระดับสูงส่งผลให้ข้าวไทยแข่งขันกับคู่แข่งไม่ได้ จึงต้องการให้รัฐบาลเร่งสร้างคุณภาพข้าวไทยให้แตกต่างจากคู่แข่ง เพื่อสามารถกระตุ้นให้เกิดการส่งออกมากขึ้น พร้อมกับให้รัฐบาลดูแลราคาสารเคมี ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงไปในตัวด้วย เพื่อช่วยลดต้นทุนแก่เกษตรกร

ส่วนการให้คะแนนนโยบายรับจำนำข้าวที่มีต่อระบบเศรษฐกิจไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยให้ที่ 8 คะแนนจาก 10 คะแนน เพราะนโยบายนี้ช่วยพยุงเศรษฐกิจและดูแลอำนาจซื้อของประชาชนโดยเฉพาะในท้องถิ่นให้สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการยกระดับสัดส่วนการบริโภคภายในประเทศ ให้ได้ 40% ของจีดีพี ซึ่งมีส่วนช่วยให้การจับจ่ายซื้อสินค้ามากขึ้น
ทีมเศรษฐกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น